โคกกระสุน ๓

Tribulus terrestris L.

ชื่ออื่น ๆ
หนามกระสุน, หนามดิน (เหนือ)
ไม้ล้มลุก เกือบทุกส่วนมีขนสีขาว ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงตรงข้าม คู่ใบประกอบมีขนาดต่างกันมาก ใบย่อยรูปขอบขนาน ดอกเดี่ยว สีเหลืองออกตามซอกใบเฉพาะข้างที่เป็นใบประกอบเล็ก ผลแบบผลแห้งแยก รูปค่อนข้างกลม มีขน มี ๔-๕ พู แต่ละพูมีหนามแหลม ๒ คู่ มีเมล็ด ๑-๕ เมล็ด

โคกกระสุนชนิดนี้เป็นไม้ล้มลุก อายุ ๑-๒ ปี ต้นทอดราบไปตามพื้น ชูยอดขึ้น ยาวได้ถึง ๙๐ ซม. เกือบทุกส่วนมีขนสีขาว

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงตรงข้าม ยาว(๒.๕-)๘-๙(-๑๘) ซม. ใบประกอบคู่ที่อยู่ตรงข้ามกันมีขนาดต่างกันมาก สลับกันไปมา ใบประกอบเล็กมีใบย่อย ๖-๑๐ ใบ ใบประกอบใหญ่มีใบย่อย ๑๒-๑๖ ใบ ปลายแกนกลางใบเป็นติ่งแหลม ยาว ๐.๕-๒ มม. ก้านใบยาว ๐.๒-๑ ซม. ใบย่อยรูปขอบขนาน กว้าง ๒-๖ มม. ยาว ๐.๕-๒ ซม. ปลายเป็นติ่งแหลม โคนมนหรือรูปหัวใจเบี้ยว ขอบเรียบ ด้านล่างมีขนสีขาวเป็นมันหนาแน่น ด้านบนมีขนประปรายหรือเกลี้ยง ก้านใบย่อยสั้นมากหรือไม่มี หูใบมี ๑ คู่ รูปเคียว ยาวได้ถึง ๖ มม. ปลายแหลม

 ดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบเฉพาะข้างที่เป็นใบประกอบเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๑.๕ ซม. ก้านดอก ยาว ๐.๕-๑ ซม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ ร่วงง่าย รูปใบหอกแคบ กว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๓-๖ มม. มีขน กลีบดอก สีเหลือง มี ๕ กลีบ รูปไข่กลับ ปลายมน กว้าง ๓-๕ มม. ยาว ๔-๘ มม. เกสรเพศผู้ ๘-๑๐ เกสร ยาวไม่เท่ากันเรียงเป็น ๒ วง เกสรที่อยู่ตรงกับกลีบดอกยาวกว่าเกสร ที่อยู่ระหว่างกลีบดอกเล็กน้อย ก้านชูอับเรณูยาวได้ถึง ๓ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ มม. มีขน มี ๔-๕ ช่อง แต่ละช่อง ออวุล ๑-๕ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๐.๕-๑ มม. ยอดเกสรเพศเมียรูปครึ่งวงกลม

 ผลแบบผลแห้งแยก รูปค่อนข้างกลม มี ๔-๕ พู แต่ละพูมีหนามแหลม ๒ คู่ คู่ยาวอยู่ตรงกลางพู คู่สั้นอยู่ที่โคนใกล้กับก้าน สีเขียว ผิวขรุขระ มีขนยาวสีขาวก้านผลยาวประมาณ ๑ ซม. ผลเมื่อแก่จะแยกออกเป็น ๔-๕ เสี่ยง แต่ละเสี่ยงกว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๔-๕ มม. มีเมล็ด ๑-๕ เมล็ดโคกกระสุนชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคพบขึ้นตามที่รกร้างบนดินปนทราย ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับนํ้าทะเลถึงประมาณ ๑๕๐ ม. ออกดอกและเป็นผลตลอดปี ในต่างประเทศพบในเขตร้อนทั่วโลก

 ประโยชน์ ทั้งต้นและผลใช้เป็นยาขับปัสสาวะ บำรุงกำลัง ฝาดสมาน ขับประจำเดือน และขับน้ำนม

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
โคกกระสุน ๓
ชื่อวิทยาศาสตร์
Tribulus terrestris L.
ชื่อสกุล
Tribulus
คำระบุชนิด
terrestris
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1707-1778)
ชื่ออื่น ๆ
หนามกระสุน, หนามดิน (เหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ก่องกานดา ชยามฤต